Wednesday, April 7, 2010

วัฏจักรเศรษฐกิจกับการลงทุน


วัฏจักรเศรษฐกิจกับการลงทุน
จริยา พิมลไพบูลย์
ตั้งแต่ต้นปี 2553 เป็นต้นมา นักวิเคราะห์หรือบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายต่างพูดจาเป็นเสียงเดียวกันว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้น่าจะมีแนวโน้มแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมา ในขณะที่เศรษฐกิจไทยเองธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาครัฐต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เบื้องต้น และนำไปสู่การส่งสัญญาณของธปท.ถึงโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้นักลงทุนต้องคอยประเมินปัจจัยต่างๆเพื่อจับจังหวะการลงทุนที่ปลอดภัยและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเม็ดเงินลงทุนได้อย่างสูงที่สุด ดังนั้น วันนี้ผู้เขียนจึงกล่าวถึง “วัฏจักรเศรษฐกิจกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ”








ที่มา : http://www.scribd.com/doc/12814313/วัฏจักรเศรษฐกิจ
โดยทั่วไปเราสามารถจำแนกวัฏจักรเศรษฐกิจออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะเศรษฐกิจตกต่ำ, ระยะเศรษฐกิจฟื้นตัว, ระยะเศรษฐกิจรุ่งเรือง และ ระยะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งการหมุนเวียนของภาวะเศรษฐกิจในระยะต่างๆนั้น จะมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงสลับไปสลับมาเหมือนลูกคลื่น (phases) จากระยะที่เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตจนถึงขีดสุดแล้วค่อยๆ ชะลอตัวลงมาจนถึงจุดต่ำสุด และจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้นไปใหม่ หมุนเวียนเป็นวงจรอย่างนี้เรื่อยไป โดยทั่วไปวัฏจักรเศรษฐกิจมักกินเวลาโดยประมาณ 42 – 54 เดือน ซึ่งควาวสั้นหรือยาวของรอบวัฐจักรเศรษฐกิจอาจจะขึ้นกับผลของนโยบายการเงินที่มีต่อระบบเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลัก มูลค่าของสินทรัพย์ต่างๆมักเปลี่ยนแปลงมูลค่าไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน เราจึงแยกย่อยสินทรัพย์ลงทุนตามวัฏจักรเศรษฐกิจตามระยะ (stage) ซึ่งถูกแสดงในแผนภาพข้างต้น
เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ระยะตกต่ำ (Stage 1) ณ ช่วงเวลาดังกล่าวธนาคารกลางมักจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในภาวะดอกเบี้ยต่ำนี้ การลงทุนในเงินฝากประจำระยะยาว, ตราสารหนี้ทั้งพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ และ กองทุนรวมตราสารหนี้ที่อายุเฉลี่ยของตราสาร (Duration) เกิน 1 ปี จะให้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่า เนื่องด้วยช่วงเศรษฐกิจถดถอยเป็นช่วงเวลาที่กำลังซื้อของประชาชนลดน้อยถอยลง ระดับราคาสินค้าและบริการปรับตัวลดลง ผลประกอบการธุรกิจส่วนใหญ่จึงไม่สู้ดีมากนัก เมื่อธนาคารกลางเริ่มส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นักลงทุนจึงพยายามล็อคอัตราผลตอบแทนด้วยการเลี่ยงจากการลงทุนตราสารทุนไปลงทุนตราสารหนี้แทน ด้วยเหตุนี้ราคาของตราสารหนี้จึงมีมูลค่าเพิ่มในช่วงเวลาดังกล่าวค่อนข้างมาก นอกเหนือจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund)ก็เป็นอีกทางเลือกในการออมเงินในช่วงดอกเบี้ยต่ำ เพราะได้รับเงินปันผลค่อนข้างสูง แต่ก็มีข้อเสียคือสภาพคล่องค่อนข้างจะต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนทางเลือกอื่น
ระยะเศรษฐกิจฟื้นตัว (Stage 2) ภายหลังที่ธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้ระยะหนึ่ง ทำให้ต้นทุนของภาคเอกชนลดลง เศรษฐกิจจึงค่อยๆฟื้นตัวขึ้น ในช่วงเวลาดังกล่าวนักลงทุนควรเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมากขึ้น เพราะต้นทุนภาคเอกชนที่ลดลง ส่งผลให้ผลประกอบการบริษัทต่างๆเริ่มปรับตัวดีขึ้น สุดท้ายจะทำให้ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้นปรับตัวสูงขึ้น ส่วนการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้นั้น ช่วงเวลาดังกล่าวนักลงทุนไม่ควรรีบร้อนที่จะล๊อคเงินฝากประจำระยะยาวในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ควรที่จะลดระยะเวลาการฝากประจำลงหันมาฝากประจำในระยะสั้นเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในจุดที่ต่ำสุด ด้านการลงทุนในตราสารหนี้นั้นอาจจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือ (Duration) ในพอร์ตไม่ยาวมากนัก เพราะช่วงอัตราดอกเบี้ยสู่จุดต่ำสุดจะเป็นช่วงที่ตลาดเริ่มมีการคาดการณ์โอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ซึ่งจะมีผลราคาตราสารหนี้ระยะยาวมีโอกาสเผชิญความผันผวนของราคาในด้านลบได้ ด้านการลงทุนหุ้นกู้เอกชนนักลงทุนอาจจะเน้นลงทุนในหุ้นกู้พวกกลุ่ม (High Yield) ที่อันดับความน่าเชื่อถือไม่สูงนัก ภายใต้สมมติฐานที่ว่าบริษัทเหล่านี้จะมีความสามารถในการชำระหนี้ที่สูงขึ้นตามผลประกอบการที่ดีขึ้นเมื่อเศรษฐกิจขยายตัว
ระยะเศรษฐกิจรุ่งเรือง (Stage 3) เมื่อกลไกทางเศรษฐกิจสามารถทำงานได้ตามปกติ ประชาชนมีกำลังศื้อเพิ่มสูงขึ้น ธุรกิจมีกำไร เศรษฐกิจจึงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และในช่วงเวลาดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อก็ทยอยปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกันและทำให้ทางการต้องเริ่มมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย การลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะเน้นการลงทุนในพวกสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) เพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่าง อาหารและน้ำมัน ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของเงินเฟ้อ ดังนั้น ถ้าเราลงทุนในสิ่งที่ให้ผลตอบแทนตามราคาอาหารและน้ำมัน ที่เพิ่มขึ้น ก็เสมือนว่าเราได้รับผลตอบแทนเข้ามาชดเชยกับเงินที่เราต้องจ่ายออก ซึ่งก็ถือว่าเป็นการป้องกันความเสี่ยงโดยธรรมชาติ โดยการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ปัจจุบันนี้สามารถทำง่ายขึ้นโดยผ่านกองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ นักลงทุนอาจจะเลือกลงทุนผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ด้านการลงทุนในหุ้นกับตราสารหนี้นั้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างร้อนแรงอาจจะลดความน่าสนใจลง เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวดอกเบี้ยค่อยๆขยับสูงขึ้น ต้นทุนธุรกิจจึงค่อยๆปรับเพิ่มขึ้น กำไรจึงลดลงลง ราคาหุ้นจึงมีโอกาสปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ด้านตราสารหนี้นั้นดอกเบี้ยตลาดและเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงจากการลงทุนตราสารหนี้ลดลง ราคาตราสารหนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวมีโอกาสปรับตัวลดลงได้
ระยะเศรษฐกิจถดถอย (Stage 4) และเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวขึ้นสูงถึงช่วงสูงสุด อัตราเงินเฟ้อยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับค่อนข้างสูงควรลงทุนใน เงินฝาก หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยตราสารค่อนข้างสั้นมากหรือกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี แต่หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นหรือหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีความน่าเชื่อถือค่อนข้างต่ำ เพราะช่วงเวลาดังกล่าวกำไรที่ค่อยๆลดลงจากต้นทุนที่สูงขึ้น กอปรกับเศรษฐกิจอยู่ในจุดที่สูงสุดก็เพิ่มแรงคาดการณ์ว่าในอนาคตเศรษฐกิจจะเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวซึ่งก็ส่งผลให้การคาดการณ์กำไรภาคธุรกิจที่ลดต่ำลง ความสามารถในการชำระหนี้ก็ลดลงด้วยเช่นกัน ฉะนั้นราคาหุ้นและหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อไม่สูงนักในช่วงเวลาดังกล่าวจึงปรับตัวลดลง
สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่จุดต่ำสุด เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแต่ยังเป็นระดับที่ไม่อันตรายต่อระบบเศรษฐกิจมากนัก ซึ่งตรงกับวัฐจักรเศรษฐกิจในช่วงรอยต่อระหว่าง ระยะเศรษฐกิจฟื้นตัว เข้าสู่ระยะเศรษฐกิจเฟื่องฟู แม้จะมีปัญหาการเมืองเป็นอุปสรรคบ้าง ในช่วงเวลาดังกล่าวนักลงทุนควรจัดพอร์ตรอรับเศรษฐกินขาขึ้น โดยเน้นเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น ด้านฝั่งหุ้นก็เน้นลงทุนกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น เช่นหุ้นกลุ่มธนาคาร หากมีการจัดการต้นทุนที่ดีพอด้วยการล็อคต้นทุน เงินที่จะปล่อยกู้ไว้ได้ที่ระดับต่ำ (อัตราดอกเบี้ยเงิน ฝากที่ให้แก่ผู้ฝากเงิน) แล้วไปปล่อยกู้ตามอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น  ก็จะสามารถได้กำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Interest rate spread) ที่กว้างขึ้นได้ เป็นต้น ด้านเงินฝากนั้นนักลงทุนไม่ควรรีบฝากประจำระยะยาวหรือลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยตราสารค่อนข้างยาว ในระยะที่อัตราดอกเบี้ยกำลังเปลี่ยน Trend มาเป็นช่วงขาขึ้น และดูเหมือนว่าจะขี้นไปเรื่อยๆ เพราะนักลงทุนจะเสียโอกาสจากอัตราผลตอบแทนการลงทุนใหม่ (Re-Investment Rate) ที่ค่อยๆปรับตัวสูงขึ้นได้ รวมถึงมีโอกาสเผชิญกับปัญหา NAV กองทุนรวมตราสารหนี้ติดลบจากการ Mark to market มูลค่าของตราสารที่ลดลง ฉะนั้นในช่วงเวลานี้นักลงทุนควรเน้นลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) มากกว่า

No comments:

Post a Comment