Thursday, December 30, 2010

เกษียณสุขกับฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ (Happy Retirement with Bubblicious Asset Price)

       มันเป็นเรื่องธรรมดาที่คนส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมเป็นผู้กลัวความเสี่ยง (Risk Aversion) กล่าวคือ มัก “ลงทุน หรือ พัก” เงินก้อนใหญ่ของตนไว้ใน “บัญชีเงินฝากออมทรัพย์, บัญชีเงินฝากประจำ, กองทุนรวมตลาดเงิน หรือ ตราสารหนี้ภาครัฐฯ” ภายใต้ความเข้าใจว่าสินทรัพย์ทางการเงินเหล่านี้ล้วนปลอดภัย มั่นคง และสามารถรักษาเงินต้นได้ แต่สิ่งหนึ่งที่คนโดยทั่วไปลืมคิดถึงคือ ยิ่งปล่อยให้เวลาผ่านไปนานเข้า ความปลอดภัยจากการลงทุนในรูปแบบนี้จะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดีต่อการเกษียณของตนเอง
ตาราง : เกณฑ์มาตรฐานในการใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนสำรอง เลี้ยงชีพ (Benchmark)

ที่มา : สมาคมบริษัทจัดการลงทุน

        จากตารางข้างต้น ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์, อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ หรือ อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นๆ ให้อัตราผลตอบแทนเพียงประมาณ 1.00% เท่านั้น ซึ่งผลตอบแทนเพียงแค่นี้บนเงินออมยามเกษียณ อาจพอเพียงแค่ค่าอาหารธรรมดาๆ 3 มื้อต่อวันเท่านั้น หรือลองสมมติยืดอายุการลงทุนหรือการฝากเงินให้ยาวขึ้นกว่านี้หน่อย เช่น จากฝากเงิน/ลงทุนตราสารหนี้ภาครัฐ 3 เดือน เป็นเทอม 1 ปี ก็จะพบว่าได้ผลตอบแทนจากการลงทุนมากขึ้น แต่ผลตอบแทนดังกล่าวก็ยังไม่พอเพียงต่อบรรดาค่าใช้จ่ายปัจจัยสี่ที่ต้องใช้ยามหลังเกษียณอายุ
            อย่างที่เรา ๆ ท่าน ๆ ทราบกันว่า อายุขัยเฉลี่ยของคนเรามีแนวโน้มจะยืนยาวมากขึ้น อันจะสังเกตได้จากตารางชีพสถิติประกันภัย (Life Expectancy Table) ที่ใช้ในธุรกิจประกันชีวิต มีช่วงอายุขัยเฉลี่ยที่ยาวมากขึ้น ด้วยอายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้นบ่งชี้ว่าคนวัยทำงาน (Non-Retirees) ควรต้องให้ความสำคัญต่อการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ (Investing Efficiently) ควรจำเป็นต้องมีมากขึ้น
          สิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้ คือ “ขนาดเดียวใช้ได้หมด (One Size Fit All)” ซึ่งในความเป็นจริงมักไม่เป็นเช่นนั้น ยกตัวอย่างเช่น มันเป็นการไม่เหมาะสมที่คนหนุ่มสาววัยเริ่มทำงาน จะมีพฤติกรรมการลงทุนเฉกเช่นคนชรา คือ เน้นลงทุนสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำหรือมีความเสี่ยงต่ำเพื่อที่รักษาเงินต้น การลงทุนที่ดีควรจะคำนึงถึงอายุของผู้ลงทุน, วัตถุประสงค์การลงทุน, ข้อจำกัดการลงทุนผนวกรวมไปกับความเสี่ยงในการลงทุนเข้าไปด้วยกัน
        นอกเหนือจากนี้ นักลงทุนมักไม่ค่อยระแวดระวังว่าตัวเองกำลังผจญกับความเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว หรือลืมคิดว่า “ที่ๆปลอดภัยที่สุด คือที่ๆอันตรายมากที่สุดด้วยเช่นกัน” เช่น การที่ทุกคนในตลาดการเงินล้วนคิดคล้ายๆกันว่าการลงทุนในสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นปลอดภัย อีกนัยหนึ่งคือการเพิ่มความเสี่ยงให้กับการลงทุนโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เช่น คนส่วนใหญ่เชื่อว่าตราสารหนี้ภาครัฐนั้นเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัยที่สุด (Safe-Haven) นั่นก็อาจเป็นที่ๆอันตรายที่สุด (ในแง่ความเสี่ยง) ด้วยเช่นกัน เพราะการที่ทุกคนมี อุปสงค์ (Demand) ในการลงทุนตราสารทางการเงินใดมากเป็นพิเศษจะผลักดันให้ราคาของตราสารนั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกนัยหนึ่งคือผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนนั้นจะลดน้อยถอยลงด้วยเช่นกัน เราสามารถพูดได้ว่ามีโอกาสสูงที่ราคาตราสารนั้นกำลังตกอยู่ในภาวะฟองสบู่พร้อมที่จะแตกโพละได้ตลอดเวลา ฉะนั้นนักลงทุนที่รู้รอบควรจะหลีกเลี่ยงกับการลงทุนในตราสารประเภทดังกล่าวนี้
        เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ, การฝากเงินในธนาคารพาณิชย์ อาจเป็นทางเลือกการลงทุนที่ปลอดภัยและดีที่สุดสำหรับการรักษาเงินต้นให้เพียงพอค่าใช้จ่ายหลังเกษียณของคนที่พ้นวัยทำงานแล้ว อย่างไรก็ตาม ถ้าหากคุณยังอยู่ในวัยทำงานและไม่ต้องการชีวิตหลังเกษียณที่ลำบากยากเข็ญมากนัก เป้าหมายการลงทุนของคุณควรถอยฉากจากสินทรัพย์ที่เผชิญภาวะฟองสบู่และเลือกสินทรัพย์ลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองให้มากขึ้นเพื่อเป้าหมายการเกษียณสุขในระยะยาว
ที่มา : On Bond Bubbles and Retirement โดย Wade Slome