Thursday, April 29, 2010

สรุปภาวะตลาด ตราสารหนี้ไทย เดือนมกราคม 2553 ถึง เมษายน 2553


สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย เดือนมกราคม 2553 ถึง ปัจจุบัน
ตั้งแต่ต้นปี 2553 ถึงช่วงเวลาปัจจุบันเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ปรับตัวลดลงและแบนราบมากขึ้น (Bullish-Flattening) โดยการเปลี่ยนแปลงของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในลักษณะดังกล่าวเป็นผลพวงมาจาก การเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของธุรกิจประกันชีวิต, การไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Funds Inflow) และ ปัญหาการเมืองที่ปะทุรุนแรงเกินกว่าคาดการณ์ของหลายๆฝ่ายจนเป็นเหตุให้ภาพการฟื้นตัวที่ดูสดใสของประเทศไทยต้องสะดุดตัวลง


จากรูปข้างบนแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยเราสามารถระบุถึงปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงเวลาดังกล่าวได้ดังต่อไปนี้
·                    การเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของธุรกิจประกันชีวิตตั้ง แต่ปี 2552 ถึงช่วงเวลาปัจจุบัน เป็นผลพวงมาจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์และการเร่งขยายช่องทางการขายประกันชีวิตผ่านธนาคารพาณิชย์ ด้วยเหตุนี้ธุรกิจประกันชีวิตจึงมีเบี้ยประกันรับสุทธิในแต่ละเดือนในปริมาณค่อนข้างมาก จึงมีความต้องการลงทุนตราสารหนี้ระยะยาวที่สอดคล้องกับอายุเฉลี่ยของกรมธรรม์เป็นจำนวนมาก
·                    ด้านเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้านั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภูมิภาค กล่าวคือเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มการฟื้นตัวดูชัดเจนกว่าเศรษฐกิจภูมิภาคอื่นๆโดยเปรียบเทียบ เพราะเศรษฐกิจภูมิภาคอื่นๆอย่างสหรัฐฯเองมีการฟื้นตัวเช่นกันแต่ยังดูค่อนข้างเปราะบาง ส่วนสหภาพยุโรปนั้นเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่เพราะประเทศสมาชิกบางประเทศยังประสบปัญหาภาวะหนี้สินต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมทางเศรษฐกิจ (GDP) ค่อนข้างสูงจนเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกเหนือจากนี้เม็ดเงินที่ไหลเข้ามานั้นนอกจากจะเป็นเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติแล้วบางส่วนยังเป็นเม็ดเงินลงทุนไทยเองที่อยู่ในสภาพการครบกำหนดของกองทุนรวม Term Fund ที่เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเงินส่วนนี้ที่ครบกำหนดเข้ามาถูก roll-over ออกเป็น Term Fund ใหม่เพียงแค่บางส่วน ฉะนั้นจึงมีสภาพคล่องไหลกลับเข้ามาประเทศไทยและพักเงินในตลาดตราสารหนี้เป็นจำนวนมาก
Foreign holdings of Indonesia, Korea, Malaysia and Thailand Government Bonds (% of O/S)

·                    ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ปะทุขึ้น มีระดับความรุนแรงเกินกว่าหลายฝ่ายคาดการณ์ไว้เบื้องต้น จึงเป็นเหตุให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเดิมทีที่จะเลือกดำเนินนโยบายการเงินตามปกติ (Normalization Process) จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์จึงทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของประเทศไทยต่ำที่สุดในภูมิภาคเดียวกัน ต้องเลื่อนกระบวนการ Normalization Policy Rate ดังกล่าวออกไปสักระยะโดยรอให้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองทุเลาลงก่อน ส่วนด้านปัญหาการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สกุลเงินบาทนั้น เราคาดว่าโอกาสถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือมีแต่ไม่รุนแรงนัก โดยกรณีร้ายแรงที่สุดคือปรับลดจาก ฺฺฺBBB เป็น BBB- เพียงแค่หนึ่งลำดับขั้นเท่านั้น โดยพิจารณาจากฐานะทางการคลังที่ยังแข็งแกร่งของประเทศไทยรวมถึงภาระหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ที่ระดับร้อยละ 44.23 ซึ่งถือเป็นระดับที่ไม่สูงมากนัก ฉะนั้นหากประเทศไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจริง เรามองว่าแรงเทขายจากนักลงทุนต่างชาติอาจจะไม่รุนแรงมากนักเพราะความสามารถในการชำระหนี้ของไทยที่แท้จริงยังดูแข็งแกร่งอยู่

·                    อย่างไรก็ตามจากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ปี 2553 ที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด ทำให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บรายได้ภาษีได้เกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ ภาครัฐจึงมีความจำเป็นในมีความจำเป็นในการกู้เงินผ่านตลาดพันธบัตรน้อยลง กอปรกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะประกาศลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะยาวลงในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2553 ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักลงทุนที่มีความต้องการลงทุนตราสารหนี้ระยะยาวรีบที่จะลงทุนเนื่องจากเกรงว่าปริมาณอุปทานพันธบัตรจะไม่เพียงพอกับเม็ดเงินลงทุนของตน

1 comment:

  1. เจ๋งมากเลยหนึ่ง Cool!!!! ชอบๆ เขียนให้อ่านอีกนะ
    ได้ความรู้เยอะเลยครับ


    from AKE (MIF#9)

    ReplyDelete