Wednesday, October 20, 2010

ยุทธการเงินตรา (Currency Battle)


ปี 2010 ในช่วงเวลาคนส่วนใหญ่ต่างดำรงชีวิตด้วยความสงบสุขไร้ซึ่งความขัดแย้งใดๆระหว่างชาติพันธุ์, ดินแดน หรือกลุ่มศาสนา ในช่วงเวลาแห่งความสงบสุขนั้นเอง 2 ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจกำลังเพาะบ่มปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศจนขยายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศและก่อให้เกิดสงครามเงินตราทั่วโลกในช่วงเวลาถัดมา
มูลเหตุแห่งปัญหา : เป้าหมายที่แตกต่าง
·     สหรัฐอเมริกา : สิ่งที่สหรัฐฯกำลังดำเนินการ ณ เวลาปัจจุบัน คือ การเลือกขยายระยะเวลาที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเกินกว่าระดับปกติ (Quantitative Easing Monetary Policy) ต่อไปเพื่อมุ่งหวังที่จะป้องกันปัญหาเงินฝืด (Deflation) ที่อาจเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ ซึ่งผลสืบเนื่องของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจผ่อนคลายมากกว่าปกติก็คือ การอ่อนค่าอย่างมากของเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามผลของการที่สหรัฐฯเลือกดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายมากกว่าปกติ (Quantitative Easing) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ไม่ได้มีผลจำกัดเพียงแต่ภายในสหรัฐฯเท่านั้น แต่มีผลขจรขจายไปยังทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งผลนั้นอาจถูกตีความได้ทั้งแง่บวกและลบต่อเศรษฐกิจโลกคือ มุ่งหวังให้ดุลการค้าสหรัฐฯขาดดุลลดน้อยลง ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจสหรัฐฯที่แข็งแรงมากขึ้นก็เป็นการเพิ่มอุปสงค์มวลรวมของเศรษฐกิจโลกด้วย
·      จีน : ในกรณีของประเทศจีนสถานการณ์นั้นแตกต่างกับสหรัฐฯอย่างสุดขั้ว จีนไม่มีความจำเป็นที่ต้องต่อสู้กับปัญหาเงินฝืด แต่สิ่งที่จีนพยายามต่อสู้และป้องกันคือ ปัญหาเงินเฟ้อ (Inflation)” ที่อาจเกิดจากการขยายตัวอย่างร้อนแรงมากเกินไปของเศรษฐกิจจีน และในขณะเดียวกันก็พยายามรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้เคลื่อนไหวภายในกรอบแคบๆและมีมูลค่าอ่อนค่ามากกว่าความเป็นจริง (Undervaluation) ด้วย การที่จีนสามารถเลือกให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่ามากกว่ามูลค่าที่แท้จริงสามารถทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ขัดต่อ Impossible Trinity” เพราะจีนเลือกที่จะคุมการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศผ่านตลาดสินทรัพย์ทางการเงิน (Capital Control in Financial Asset Market) จึงสามารถกำหนดนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอิสระต่อนโยบายการเงินภายในประเทศได้ ด้วยการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด (Tightening Monetary Policy) เพื่อสกัดปัญหาเงินเฟ้อนั้น มีผลรวมต่อเศรษฐกิจโลกคือ ลดอุปสงค์มวลรวมของเศรษฐกิจโลก
จากข้อมูลข้างต้นเราพบว่า 2 ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจต่างเผชิญเป้าหมายที่แตกต่างกันสุดขั้ว จึงทำให้แนวนโยบายที่แต่ละฝ่ายเลือกดำเนินการนั้นขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิงและไม่สามารถเติมเต็มความต้องการของแต่ละฝ่ายได้ ความขัดแย้งในนโยบายเศรษฐกิจนี้ได้ก่อกำเนิดความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจโลก

ผลกระทบ : ผู้ได้รับบาดเจ็บ
ด้วยการดำเนินมาตรการ Quantitative Easing ของสหรัฐ ทำให้เงินดอลลาร์จำนวนมหาศาลถูกอัดฉีดเข้าสู่ตลาดการเงินโลก และโดยธรรมชาติ เงินทุนเหล่านี้พยายามวิ่งเข้าหาแหล่งที่ให้ผลตอบแทนสูง ฉะนั้นเราจึงเห็นเงินทุนจำนวนมหาศาลเลือกไหลเข้าประเทศที่มีเสรีในการเข้าออกของเงินทุน (Free Capital Mobility) และให้อัตราผลตอบแทนที่น่าดึงดูดใจ หรืออัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการถือครองสินทรัพย์ในสกุลเงินดอลลาร์โดยเปรียบ
จากสภาพเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม Emerging Market ที่สามารถฟื้นตัวได้ไวหลัง Financial Crisis ปี 2008 ทำให้ประเทศเหล่านี้มีเงินทุนไหลเข้ามามาก ด้วยปริมาณดอลลาร์ในระบบที่ถูกอัดฉีดในปริมาณที่มากกว่าปกติจึงทำให้ค่าเงินของบรรดาประเทศ Emerging Market แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าผู้ที่มีรายได้จากการค้าขายระหว่างประเทศจะปรับตัวตามได้ทัน
การบรรเทาผลกระทบ : การเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ
ตราบใดที่เงินดอลลาร์ยังถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบเรื่อยๆ มันก็เป็นการยากที่จะทำให้ค่าเงินของประเทศ Emerging Market อ่อนค่าลงเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ส่งออก เพราะการจะแทรกแซงเงินทุนจำนวนมหาศาลได้สำเร็จนั้นหมายความว่าประเทศที่เข้าแทรกแซงจะต้องมีเงินทุนจำนวนมหึมาด้วยเช่นกันหรือมีกำแพง (Capital Control) ที่แข็งแรงเพียงพอที่กั้นไม่ให้เงินทุนภายนอกสามารถหลั่งไหลเข้าประเทศอย่างรวดเร็วได้
ด้วยความสามารถในควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดของประเทศ Emerging Market สิ่งที่ประเทศเหล่านี้ควรทำในยามที่มีเงินทุนไหลเข้าประเทศจำนวนมหาศาลนี้คือ
·      เยียวยาผู้ที่ทำการค้าระหว่างประเทศด้วยการหามาตรการเสริมเพื่อช่วยลดต้นทุนการดำเนินการธุรกิจ ให้อย่างน้อยผู้ที่ทำการค้าระหว่างประเทศพอที่จะรักษาส่วนต่างระหว่างรายรับและต้นทุนไว้ไม่ให้ลดลงไปมากหลังจากที่รายรับลดลงจากการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศนั้นๆ
·      ภาครัฐต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ด้วยการเร่งขยายการลงทุนทั้งภาคเอกชนผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนหรือการลงทุนโดยตรงของภาครัฐเอง เพราะการนำเข้าต้นทุน วัตถุดิบ หรือสินค้าทุนในช่วงเวลาค่าเงินแข็งจะได้ราคาที่ถูกกว่าปกติ ในขณะเดียวกันการนำเข้ามากๆส่งผลให้ดุลการค้าที่เคยเกินดุลปรับตัวแคบลงส่งผลให้ช่วยชะลอการแข็งค่าของค่าเงินได้บ้าง


  บทสรุป : จุดจบของยุทธการ
เนื่องด้วยเป้าหมายของ 2 ประเทศมหาอำนาจยังไม่สามารถบรรจบกันได้ ทำให้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมีสภาพที่ไร้ความสมดุลหรือมี Shortfall เกิดขึ้น ฉะนั้นจึงเป็นปัญหาอันใหญ่หลวงของบรรดาประเทศเล็กๆที่ต้องเตรียมรับมือและแก้ทางกับปัญหากระแสเงินทุนจำนวนมหาศาลไหลเข้าประเทศตราบใดที่ข้อขัดแย้งด้านอัตราแลกเปลี่ยนของทั้ง 2 ประเทศมหาอำนาจยังคงดำรงอยู่ต่อไป