Wednesday, December 9, 2009

ปราสาททรายดูไบ : งานปั้นระดับโลก



หลายปีที่ผ่านมา ดูไบผันแปรจากดินแดนทะเลทรายที่เป็นเพียงรัฐเล็กๆ 1 ใน 7 ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาสู่ดินแดนแห่งความมั่งคั่งในการค้า บริการ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และศูนย์กลางธุรกิจและการเงินแห่งใหม่ของภูมิภาคเพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากชาวต่างชาติ และภายหลังการลุกลามของวิกฤติการเงินสหรัฐฯ ความสำคัญของดูไบที่มีต่อเศรษฐกิจโลกก็ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในฐานะบ่อเงินบ่อทองแห่งใหม่ของนักลงทุนที่แสวงหาผลตอบแทน

แรกเริ่มเดิมทีนั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของนครรัฐแห่งนี้ เกิดขึ้นจากผลงานของเจ้าผู้ครองนคร มุ่งสร้างให้ดูไบกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการเงินในตะวันออกกลาง เพราะรายได้จากการขายน้ำมันลดลงเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้การกระตุ้นการลงทุนในดูไบจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านบริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐดูไบซึ่งจัดตั้งในชื่อ "ดูไบเวิลด์" และผลิตผลที่ได้จากการลงทุนนั้นคือ เนินเล่นสกีในร่ม สกี ดูไบ”, หมู่เกาะที่สร้างด้วยมือมนุษย์ ปาล์ม จูไมราห์”, อาคารสูงที่สุดในโลก เบิร์จ ดูไบ”, ท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ฯลฯ 

อย่างไรก็ตามความต้องการปั้นดูไบให้เป็นเหมือนเมืองในฝันจนลืมคิดถึงความจริงข้อหนึ่งที่ว่าสิ่งก่อสร้างทั้งหลายแหล่นั้นล้วนก่อให้เกิดผลิตภาพระยะยาวแก่ดูไบไม่มากนัก เพราะสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นล้วนแล้วแต่สร้างขึ้นมาเพื่อชาวต่างชาติจำนวนมากที่เข้ามาทำงานหรือท่องเที่ยวในดูไบมากกว่าที่จะให้คนในดูไบเอง และยิ่งกว่านั้นเงินลงทุนในโครงการต่างๆเหล่านี้ไม่ใช่การใช้เงินสดจากรัฐดูไบเข้ามาทำลงทุนโดยตรง หากแต่เป็นการอาศัยศักยภาพของการจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐมากู้เงิน ทั้งในรูปของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ และในรูปของการกู้โดยการออกพันธบัตร 

ในที่สุดผลิตผลจากการขยายการลงทุนอย่างหนักหน่วงของดูไบก็นำมาซึ่งผลพวงด้วยนั่นคือ "ดูไบเวิลด์(Dubai World)" หนึ่งในบริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐดูไบ ซึ่งมีหนี้ 59,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯพยายามเจรจาขอเลื่อนการชำระหนี้ดูไบ เวิลด์จำนวน 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งจะครบกำหนดในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ ออกไปเป็นเดือนพฤษภาคม 2553 และว่าจ้างให้ บริษัท ดีลอยท์ฯ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านตรวจสอบบัญชีระดับโลก มาเป็นที่ปรึกษาด้านการปรับโครงสร้างการเงิน

ผลสะเทือนจากวิกฤตดูไบได้ล้วนสะท้อนผ่านความแตกตื่นที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินทั่วโลก ในเบื้องต้นนักลงทุนต่างเทขายสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกมาถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำหรือสินทรัพย์ที่อยู่ในสกุลเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ อาทิเช่น ดอลลาร์สหรัฐ, เยน เพราะต่างกังวลว่าวิกฤติทะเลทรายที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวฉุดรอนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนั้นเกิดได้ช้าลง แต่อย่างไรก็ตามการจะประเมินผลว่าวิกฤติดูไบจะเป็นตัวฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหรือไม่ผู้เขียนมองว่าอาจจะเป็นการเร็วเกินไปที่ด่วนสรุป เพราะวิกฤติดูไบที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ใหม่อะไรแต่เป็นเพียงระเบิดเวลาที่ถูกจุดชนวนไว้พร้อมๆกันกับการถดถอยทางเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

สำหรับตลาดการเงินไทยนั้น พบว่าในวันที่มีข่าวการขอเลื่อนชำระหนี้ของดูไบเวิลด์ฉุดดัชนีหุ้นไทยปรับลงเพียงแค่ 0.78%  เท่านั้น ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทยนั้นอัตราผลตอบแทนปรับสูงขึ้นเล็กน้อยจากการที่นักลงทุนต่างชาติทยอยขายพันธบัตรในกลุ่ม Emerging Market ออกมา แต่พอตลาดเริ่มคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานะของดูไบเวิลด์ นักลงทุนจึงเพิ่มการลงทุนในสกุลเงินและสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงดัชนีหุ้นไทยก็สามารถทะยานเหนือ 700 จุดได้ ส่วนด้านตลาดตราสารหนี้นั้นแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติก็กลับมาเช่นเดียวกันแต่ยังเน้นลงทุนพันธบัตรอายุคงเหลือต่ำกว่า 1 ปีเป็นส่วนใหญ่

แม้วิกฤติดูไบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ยังไม่มีบทสรุปที่แน่ชัด แต่สิ่งที่คาดว่าจะเกิดถัดจากนี้คือการ ปรับฐานของราคาสินทรัพย์เสี่ยงประเภทต่างๆ อาทิเช่นราคาอสังหาริมทรัพย์ในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ(REIT), ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ต่างๆทั่วโลก และ Credit Spread โดยเฉพาะกลุ่ม Quasi-Government และ Government ที่นักลงทุนอาจจะต้องทบทวนประเมินความเสี่ยงในการลงทุนกันอีกรอบรอบ โดยเฉพาะประเทศที่มีอัตราการก่อหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศค่อนข้างสูง (High Debt to GDP Ratio) หรือประเทศที่มีสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างต่ำซึ่งอาจจะวัดได้จาก Turnover Ratio ในตลาดที่ค่อนข้างน้อย จากผลกระทบข้างต้นอาจส่งผลต่อตลาดทุนไทยในทางอ้อมผ่านความผันผวนตลาดทุนทั่วโลกที่จะมีมากขึ้นแต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะชี้นำทิศทางตลาดทุนไทย เพราะขอบเขตความเสียหายที่มีต่อประเทศไทยทั้งด้านตลาดการเงินและภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงค่อนข้างเกิดในวงจำกัด เพราะการปล่อยสินเชื่อ,ขยายการลงทุน และสัดส่วนการส่งออกสินค้าและบริการจากไทยไปดูไบยังคิดเป็นสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับ GDPของประเทศไทย 
  

สุดท้ายนี้แม้ใครจะกล่าวว่าการขอเลื่อนชำระหนี้ของกลุ่มดูไบเวิลด์จะเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ แต่เรามองว่าจุดเริ่มต้นครั้งนี้คงไม่ได้จบเลวร้ายอย่าง 2 วิกฤติเศรษฐกิจที่สำคัญ อย่างวิกฤติต้มยำกุ้งจากประเทศไทย และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์จากประเทศสหรัฐฯเพราะสถานภาพของธนาคารพาณิชย์ในแถบตะวันออกกลางค่อนข้างมีความแข็งแรงทางการเงินเหนือกว่าธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐหรือไทยเอง เนื่องด้วยข้อจำกัดทางศาสนาที่จำกัดโอกาสการลงทุนของธนาคารในประเทศแถบนี้ ฉะนั้นคุณภาพของสินทรัพย์ในระบบธนาคารพาณิชย์ประเทศแถบตะวันออกกลางดูเหมือนจะมีความเสี่ยงของสินทรัพย์รวมต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไป และยังเสริมด้วยรายได้จากการขายน้ำมันที่มีมากในช่วงราคาน้ำมันขาขึ้นทำให้ดินแดนแถบนี้คือแหล่งเงินสดที่สำคัญของโลก ฉะนั้นก็อาจเป็นไปได้อย่างสูงที่บทสรุปของปราสาททรายดูไบอาจจะไม่ได้พังทลายเหมือนอย่างที่ใครคาดการณ์ไว้ในเบื้องต้น

No comments:

Post a Comment