ปี 2551 ผลกระทบจากวิกฤติสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (Sub prime) ทำให้เศรษฐกิจของโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จึงเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ในช่วงเวลาดังกล่าวธนาคารแห่งประเทศไทยก็ดำเนินนโยบายการเงินไม่แตกต่างกับบรรดาธนาคารกลางของประเทศต่างๆ โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (MPC)ตัดสินใจประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง จากระดับ ร้อยละ 3.75 ในเดือนธันวาคม 2551 สู่ระดับ ร้อยละ1.25 ในเดือนเมษายน 2552 เพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจในประเทศ
หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 ธนาคารพาณิชย์ก็ได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงตามมา จนท้ายที่สุดแล้ว อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ก็ได้ถูกปรับลดลงมาเหลือร้อยละ 0.5 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำหลังหักภาษีก็ถูกปรับลงมาต่ำกว่าร้อยละ1 ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ผู้มีรายได้หลักจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่างไม่ได้นิ่งเฉยกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงเรื่อยๆ โดยพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออมและลงทุนผ่านการหาช่องทางลงทุนที่ให้ผลตอบแทนงอกเงยมากกว่าการฝากเงินในธนาคาร
อย่างไรก็ตามตลาดเริ่มคาดการณ์กันว่าแนวโน้มดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ได้เดินทางมาถึงจุดต่ำสุดแล้ว และอาจกลับเข้าสู่วงจรดอกเบี้ยขาขึ้นอีกในเร็วๆนี้ สำหรับช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นก็ย่อมเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีเงินเย็น/คนที่มีเงินเหลือ และก็เป็นผลลบสำหรับผู้ที่ต้องกู้ยืมที่ต้องกู้ยืมเงินใหม่ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น แม้ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นน่าจะทำให้ผู้ฝากเงินได้อมยิ้มกันแต่ในช่วงเวลาดังกล่าวคนมีเงินออม จึงต้อง "ปรับเปลี่ยน"กลยุทธ์การฝากเงินให้สอดรับกับสถานการณ์การทิศทางดอกเบี้ยที่จะเปลี่ยนไป
โดยปกติแล้วในยามที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ควรจะเน้นลงทุนในตราสารหรือออมเงินระยะสั้นๆ ไม่ควรฝากเงินไว้/ลงทุนตราสารระยะยาว เพราะจะทำให้ผู้ออมเสียโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น แล้วควรเลือกถือฝาก/ลงทุนตราสารหรือเงินออมอายุสั้นยาวแค่ไหน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด คงจะต้องมาพิจารณากันดูว่า แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยของไทยจะปรับตัวขึ้นในลักษณะใด เช่น
•หากคาดว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 จึงแนะนำให้ผู้ออมเลือกฝากเงินหรือถือตราสารที่อายุคงเหลือไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งเป็นจังหวะลงทุนที่พอดิบพอดีกับการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย
•หากคาดว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 แล้วอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 3 เดือน และ 6 เดือน ให้ผลตอบแทนในอัตราที่เท่ากัน แนะนำให้เลือกฝากเงินใน เทอมที่สั้นกว่า คือ 3 เดือน เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เงินฝากที่ครบอายุ ก็จะได้ลงทุนใหม่ได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น
•หากคาดว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นเร็วและแรงแนะนำให้ผู้ออมเลือกฝากเงินแบบมีอายุประเภท Roll Over ไปเรื่อยๆจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
ส่วนจะเลือกลงทุนผลิตภัณฑ์การเงินแบบไหนในช่วงนี้ ยังพอมีผลิตภัณฑ์การเงินให้เลือกมากมาย ตั้งแต่ เงินฝากประจำ, เงินฝากประจำพิเศษ, ตั๋วแลกเงินเทอมต่างๆที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์, กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund), กองทุนตราสารหนี้ระยะปานกลาง (General Fixed-Income Fund), กองทุนแบบมีครบอายุ (Term Fund) ทั้งที่ลงทุนในประเทศและนอกประเทศ และ กองทุนพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Fund) ทั้งนี้ผลตอบแทนของแต่ละผลิตภัณฑ์การเงินอาจจะแตกต่างกันไปตามระยะเวลาการลงทุน และความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้มากน้อยแค่ไหน
สุดท้ายนี้เมื่ออัตราดอกเบี้ยกลับทิศ ผู้ออมคงต้องกลับทาง เลิกตัดสินใจลงทุนด้วยอัตราผลตอบแทนหลังหักภาษีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญกับช่วงอายุของตราสารที่ลงทุนเพิ่มควบคู่กับอัตราผลตอบแทนไปด้วยกัน
คอลัมภ์ Money Guru, หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
คอลัมภ์ Money Guru, หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
No comments:
Post a Comment