Friday, June 18, 2010

Policy Rate Normalization Process will Begin soon !


ผลพวงจากวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯและลุกลามไปยังภาคส่วนต่างๆทั่วโลกล้วนส่งผลให้การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกนั้นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากกว่าระดับปกติ ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ประเทศไทยเอง ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ด้วย จะเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับร้อยละ 3.75 มาสู่ระดับร้อยละ 1.25 ซึ่งมีผลให้อัตราดอกเบี้ยตลาดรวมทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากพาเหรดกันปรับตัวลดลง จนกระทั่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในทุกวันนี้เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เต็มบาท

อย่างไรก็ตาม ในครึ่งหลังของปี 2552 เศรษฐกิจในบางภูมิภาคเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น นั่นก็คือ ภูมิภาคเอเชีย เศรษฐกิจเอเซียเองอาจจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ไม่ได้รุนแรงนักเท่าภูมิภาคอื่น ฉะนั้นขาพลิกฟื้นจึงตีกลับได้ค่อนข้างง่ายและเร็วกว่าภูมิภาคอื่น อันจะเห็นได้จากตัวเลขภาคการส่งออกที่เป็นตัวจักรสำคัญตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ที่ขยายตัวค่อนข้างมาก จากฐานที่ต่ำในปีก่อน, คำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น และการค้าภายในภูมิภาคที่สูงขึ้นจากการเปิดเสรีทางการค้า (Free Trade Area) ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสัญญา FTA หลายฉบับกำหนดให้มีการลดอัตราภาษีเป็น 0 เพิ่มเติมในรายการสินค้าเกือบทั้งหมด (กว่าร้อยละ 90) ภายในปี 2553 จึงทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียขยายตัวเป็นอย่างมาก และยังมีแรงส่งต่อ (Momentum) มายังไตรมาสแรกของปี 2553

จากตัวเลขส่งออกที่ขยายตัวดีมากของภูมิภาคเอเชียส่งผลให้ IMF ปรับประมาณการตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth Rate) ของภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น จากสมมติฐานที่เชื่อว่า การค้าภายในกลุ่ม (Intra-Trade) ที่เพิ่มสูงขึ้นล้วนส่งผลดีให้แต่ละประเทศได้ประโยชน์ร่วมกันจากประสิทธิภาพของตลาดการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น จากสมมติฐานนี้จะเห็นได้ว่าตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ปี 2553 ที่นานาประเทศในแถบเอเชียประกาศออกมาล้วนมี Theme ไม่แตกต่างกันคือ Intra-trade เป็นตัวจักรสำคัญตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของนานาประเทศในภูมิภาคเอเซีย

ในกรณีของประเทศไทย การส่งออกที่ขยายตัวเกินคาดส่งผลสืบเนื่องไปยังการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมที่เน้นการเผลิตเพื่อการส่งออกสูงด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากรายงานการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ที่มีจำนวนการจ้างงานในภาคเศรษฐกิจดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น นอกจากจะได้อานิสงค์จากการส่งออกที่ขยายตัวเกินคาด ยังได้อานิสงค์จากการเลื่อนการบริโภคสินค้าคงทน (Durable Goods) ในช่วงปี 2552 มาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในต้นปี 2553 นี้ อันจะเห็นได้จากยอดขายรถยนต์ในงาน Motor Show ครั้งล่าสุดที่ทำสถิติยอดขายสูงถึง 25,000 คัน มากกว่าปีก่อนถึง 10,000 คัน และ รายได้ภาคเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาและปริมาณพืชผลทางการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้บรรดาเกษตรกรมีรายได้สำหรับจับจ่ายใช้สอยสูงขึ้น ซึ่งอาจจะดูสะท้อนผ่านยอดขายรถมอเตอร์ไซด์ที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย


จากเหตุผลที่กล่าวมาในข้างต้น ก็พอจะเห็นภาพคร่าวๆว่าเศรษฐกิจไทยล้วนมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นเป็นลำดับ อันที่จริงแล้วแค่ภาคส่งออกขยายตัวเกินคาดก็ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยมากโข เพราะ Contribution หลักของ GDP ฝั่งอุปสงค์ก็คือการส่งออกที่คิดเป็น สัดส่วนประมาณร้อยละ 60 เป็นอย่างน้อยของสมการรายได้ประชาชาติ Y=[C+I+G+(X-M)]

ด้วยตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจนก็เพียงพอระดับหนึ่งที่แสดงถึงความพร้อมของระบบเศรษฐกิจต่อกระบวนการปรับอัตราดอกเบี้ยในระบบสู่ภาวะปกติ (Normalization Process) เพราะการปล่อยดอกเบี้ยในระบบอยู่ระดับต่ำจนเกินไปอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ เพราะจะก่อให้เกิดปัญหา Asset Inflation ได้ และ ดอกเบี้ยต่ำๆทำให้เศรษฐกิจไม่มี กันชน (Buffer) สำหรับป้องกันปัญหา Price Stability ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ แต่การจะดำเนิน Normalization Process ที่เร็วเกินไปในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่แข็งแรงพอก็ไม่เป็นการดี เพราะอาจจะเป็นตัวสกัดกั้นการฟื้นตัว (Recovery) เป็นลำดับของระบบเศรษฐกิจได้

จากกรณีข้างต้น เราคิดว่าประเทศไทยมีความพร้อมที่จะดำเนินการ Normalization Process แล้ว นอกเหนือจากนี้บรรดาผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่างก็พยายามให้สัมภาษณ์ถึงกระบวนการดังกล่าวเพื่อปรับ Expectation ตลาดให้สอดคล้องกับ Monetary Policy ที่ ธปท.ต้องการจะดำเนิน

อย่างไรก็ตามด้วยปัญหาการเมืองที่ปะทุความรุนแรงระหว่างไตรมาส 2 ปี 2553 ส่งผลให้การที่จะดำเนินการ Normalization Process ต้องถูกเลื่อนเวลาออกไป อย่างไรก็ตามผู้เขียนมองผลกระทบของปัญหาการเมืองดังกล่าวมีผลกระทบในวงจำกัดน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ครั้งปิดสนามบินสุวรรณภูมิ เหตุผลคือ การชุมนุมที่เกิดขึ้นนั่นเกิดขึ้นกระจายเป็นหย่อมๆทั่วประเทศก็จริง โดยมีการปิดแยกราชประสงค์เป็นจุดยุทธศาสตร์หลัก การปิดแยกราชประสงค์ล้วนทำให้คนเมืองหลวงประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การจับจ่ายใช้สอย ผลสุทธิของการชุมนุมครั้งนี้ต่อระบบเศรษฐกิจคือ บั่นทอนความเชื่อมั่นแก่ภาคเอกชน และ สร้างความเสียหายแก่บางภาคเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันการชุมนุมเองก็เกิดขึ้นในบริเวณต่างจังหวัด แต่ผลกระทบดูจะไม่รุนแรงเท่าเขตเมืองหลวง เพราะการดำรงชีวิตของคนต่างจังหวัดยังทำมาหากินได้ตามปกติ เว้นแต่บางเขตจังหวัดที่อาศัยรายได้หลักจากภาคบริการ ก็อาจจะได้รับผลกระทบบ้างจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอการมาท่องเที่ยวในประเทศไทย

แต่สิ่งหนึ่งทีเราไม่อาจปฏิเสธได้ คือ การชุมนุมอาจก่อให้เกิดการขัดข้องในการคมนาคม หรือ ขนส่งบ้างในเขตเมืองหลวง แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อระบบ Logistic โดยรวมทั้งประเทศ การขนส่งสินค้าเพื่อการส่งออกไม่ได้โดยกระทบอะไรมากนัก สินค้ายังสามารถจัดส่งไปยังผู้ซื้อต่างประเทศได้ตามกำหนดเวลา นั่นคือการผลิตเพื่อส่งออกยังสามารถทำได้เสมอ คำสั่งซื้อสินค้าจึงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมไม่ได้ลดลงตามปัญหาวิกฤติดังกล่าวไปด้วยมากนัก ด้านภาคการเกษตรก็ไม่ได้โดนกระทบอะไรมากนักจากปัญหาวิกฤติการณ์การเมืองในครั้งนี้ เพราะการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยวยังทำงานได้ตามปกติไม่ได้ถูกกระทบอะไรจากการชุมนุมทางการเมือง พูดง่ายๆ ตัวจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 53 นั้นยังคงทำงานได้ดีอยู่ ส่วนภาคที่โดนกระทบหลักๆคือภาคบริการ คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

กลับย้อนมาถึงกรณีปิดสนามบิน การปิดสนามบิน เท่ากับเป็นการตัดช่องทางการขนส่งสินค้าและบริการที่สำคัญที่สุดไปอย่างหนึ่ง สินค้าส่งออกไปนอกประเทศไม่ได้ เราไม่สามารถส่งออกบริการ ผ่านการนำนักท่องเที่ยวมาเที่ยวในประเทศไทยไม่ได้ แต่เหตุการณ์ครั้งล่าสุดในเดือนพฤษภาคม กลไกดังกล่าวยังทำงานได้ดีอยู่แม้จะไม่มีประสิทธิผลเต็มที่ ฉะนั้นการที่ตัดช่องทางการส่งออกซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญที่สุดของ GDP ทำให้เหตุการณ์ครั้งปิดสนามบินนั้นจะมีผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจมาก


โดยสรุป เหตุการณ์การชุมนุมแยกราชประสงค์นั้นส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจไม่ได้มากนักอย่างที่เราจินตนาการ แต่สิ่งที่ส่งผลกระทบรุนแรงก็คือ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่หายไปเท่านั้น ฉะนั้นทางที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวก็คือ เราต้องฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชนให้ได้ก่อนที่จะดำเนินการ Normalization Process เป็นลำดับถัดไป

เหตุสำคัญที่เราต้องฟื้นความเชื่อมั่น หรือปูความเชื่อมั่นคือ การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบของสายการเงินนิยม (Monetarist) สิ่งสำคัญคือ การพยายาม Manage Expectation ของตลาดให้ไปในทางเดียวกันกับการดำเนินนโยบายการเงิน เพราะหาก Policy Maker เลือกดำเนินนโยบายแบบไม่คาดคิด (Surprise monetary policy actions) จะเกิด Shock หรือ Error ต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้ GDP หดตัวกะทันหัน หรือขยายตัวแบบกะทันหัน ตามแต่นโยบายการเงินที่เลือกในขณะนั้นใช้ว่าจะเป็นแบบหดตัวหรือแบบขยายตัว และเมื่อตลาดปรับการคาดการณ์สู่ดุลยภาพได้ GDP สุทธิจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไร แต่จะเปลี่ยนแปลงแค่เพียงระดับราคา (Price Level) ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ที่พึงปรารถนาของผู้ดำเนินนโยบายการเงิน ฉะนั้น Policy maker ต้องพยายามแผ้วทาง Expectation ของตลาดให้ไปในทางเดียวกัน หรือใกล้เคียงกับสิ่งที่ธนาคารกลางจะกดำเนินการมากที่สุด

จากข้อความข้างบนจะพบว่า ตอนนี้เราจะเห็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์ในทิศทางเดียวกันมากขึ้นว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากปัญหาการเมือง แต่ปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจไทยคือการฟื้นฟูความเชื่อมั่น หากความเชื่อมั่นเริ่มฟื้นคืนกลับมา ธนาคารแห่งประเทศไทยก็พร้อมที่จะดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ส่วนปัญหาอื่นๆที่คนต่างกังวลกัน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติหนี้ยุโรป แม้จะมีัข่าวว่า บรรดาประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต่างดำเนินนโยบายการคลังแบบหดตัวด้วยการรัดเข็มขัดทางการคลัง ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย เพราะมีปริมาณการค้าไม่ใช่น้อยกับภูมิภาคดังกล่าว อย่างไรก็ตามเราคาดว่าผลกระทบดังกล่าวไม่น่าจะรุนแรงนัก เพราะมูลค่าการส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรปนั้นมีสัดส่วนราว ร้อยละ 13 15 เทียบกับมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และสินค้าที่เราส่งไปสหภาพยุโรปส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำพวกสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัญมณีและเครื่องประดับที่มีประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นคู่ค้าที่สำคัญสุดของไทยในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่บรรดาประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปนำเข้าสินค้าที่ส่งออกจากประเทศไทยไปส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตเพื่อการส่งออกต่อ (Re-Export) รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับก็เป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมนาฬิกาและเครื่องประดับของหลายประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ฉะนั้นเราจึงเชื่อว่าการรัดเข็มขัดการคลังของนานาประเทศในสหภาพยุโรปคงไม่กระทบไทยรุนแรงนักตราบใดที่โครงสร้างสินค้าส่งออกจากไทยไปสหภาพยุโรปยังเป็นสินค้าจำพวกวัตถุดิบเพื่อการผลิตเพื่อส่งออกต่อ

เมื่อผลกระทบจากยุโรปสู่ไทยมีไม่มาก ก็เท่ากับว่าปัจจัยเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจไม่ได้รุนแรงอย่างที่เราคิด ก็สะท้อนถึงความพร้อมของระบบเศรษฐกิจไทยที่เริ่มดำเนินการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับภาวะปกติ อย่างที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งใจไว้ตั้งแต่ที่แรก

No comments:

Post a Comment