แนวโน้มตลาดตราสารหนี้เดือนพฤษภาคม – ธันวาคม 2553
ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2553 เรามองว่าถ้าตัดปัจจัยด้านเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้าทั้งภูมิภาคและปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เรื้อรังทิ้ง เราคาดการณ์ว่าเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยควรปรับตัวในลักษณะลดความราบชันลงเล็กน้อย แต่จะขยับตัวสูงขึ้นตลอดทั้งเส้นตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Bearish Flattening) และปริมาณอุปทานพันธบัตรรัฐบาลปีงบประมาณ 2554ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจากปีงบประมาณ 2553 ค่อนข้างมาก
เราคาดการณ์ว่าหากปัญหาความขัดแย้งการเมืองคลี่คลายลง ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะต้องรีบดำเนินปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นทันที โดยการปรับขึ้นนั้นจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าสิ้นปีอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับร้อยละ 1.75 เป็นอย่างน้อย เหตุที่เราเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะรีบดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยทันทีเพราะการที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบเป็นเวลานานๆภายใต้ระยะเวลาเศรษฐกิจโลกที่กำลังค่อยๆฟื้นตัวนั้นอาจสร้างความเสี่ยงด้านเสถียรภาพภายในและภายนอกให้กับเศรษฐกิจประเทศในอนาคตได้
ส่วนด้านอุปทานพันธบัตรรัฐบาลที่เพิ่มสูงขึ้นในปีงบประมาณ 2554 เพราะ การยกเลิกพระราชบัญญัติการกู้เงิน 400,000 ล้านบาทที่เดิมทีรัฐบาลตั้งใจจะใช้เงินกู้ส่วนนี้ภายใต้โครงการไทยเข็มแข็งระยะที่ 2 ได้ถูกโยกย้ายไปกู้ผ่านภายใต้กรอบงบประมาณปี 2554 ซึ่งจะเห็นได้จากการ อนุมัติกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 54 วงเงิน 2.07 ล้านล้าน เพิ่มจากปี53 จำนวน 3.7 แสนล้าน และแบ่งเป็นงบขาดดุล 4.2 แสนล้าน ซึ่งวงเงินขาดดุลงบประมาณเพิ่มจากปี 2553 เป็นวงเงิน 70,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ในการโยกย้ายวงเงินกู้จากการระดมทุนผ่านโครงการไทยเข้มแข็งมาเป็นการระดมทุนผ่านการใช้งบประมาณขาดดุลนั้น เรามองว่าจะเป็นปัจจัยลบต่อตลาดตราสารหนี้เพราะการระดมทุนภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งนั้นการกู้เงินมักทำในรูปเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์และการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ส่วนการกู้เงินผ่านงบประมาณขาดดุลการกู้มักทำในรูปแบบการออกพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งในกรณีหลังเป็นการเพิ่มอุปทานพันธบัตรรัฐบาลในตลาดตราสารหนี้โดยตรงจึงเป็นการเพิ่มปัจจัยลบต่อตลาดตราสารหนี้ไทยในอนาคต
อย่างไรก็ตามหากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและความกังวลปัญหาวิกฤติหนี้ในสหภาพยุโรปไม่บรรเทา เรามองว่าสองปัจจัยนี้จะช่วยสนับสนุนให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยคงอยู่ในระดับต่ำไปอีกสักระยะหนึ่ง แต่หากถ้าเหตุการณ์ทั้ง 2 นี้จบลง เราคาดว่าแรงเทขายจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในตลาดตราสารหนี้ไทยโดยเริ่มจากแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติจะเป็นตัวผลักดันให้ระดับเส้นอััตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตลอดทั้งเส้น
ครับ…ขอบคุณมากเลยครับ
ReplyDeleteเผอิญมีข้อสงสัยอีกนิดนึง เพิ่งไปอ่านเจอมา
“ถ้าหากมีพอร์ตบอน 2 พอร์ตโดยที่มี duration เท่ากัน
พอร์ต 1 ลงแบบ Bullet
พอร์ต 2 ลงแบบ Barbell
ทำไมเค้าจึงบอกว่าในกรณีที่ Yield Curve เปลี่ยนแปลงแบบชันน้อยลง แล้วพอร์ตที่ลงแบบ Barbell จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าแบบ Bullet ทุกช่วงการเปลี่ยนแปลง ครับ
เค้าอธิบายเพิ่มเติมว่าการจัดแบบ Barbell จะมี convexity สูงกว่าพอร์ต Bullet ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นครับ
ขอบคุณมากครับ