Monday, January 7, 2013

ตลาดชายขอบ (Frontier Market) ดาวรุ่งดวงใหม่ในการลงทุน?


ช่วงเวลา 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ได้รับความสนใจจากบรรดานักลงทุนมากมายทั่วโลกในฐานะโอกาสใหม่แห่งการลงทุนด้วยศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบันนักลงทุนบางกลุ่มก็เริ่มมองว่า Valuation ของตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ถูกซื้อขายในราคาที่แพงเกินไปจนเริ่มลดระดับความน่าสนใจลง

ยิ่งไปกว่านั้นโครงสร้างรายได้ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ส่วนใหญ่นั้นมักพึ่งพิงการส่งออกวัตถุดิบหรือส่งออกต่อสินค้าไปยังประเทศซีกโลกตะวันตก ซึ่งในปัจจุบันประเทศคู่ค้าหลักของประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เหล่านี้ต่างเผชิญปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวหรือหดตัวลงในบางประเทศอันเป็นผลให้กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ยากที่จะเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่านการค้าระหว่างประเทศเหมือนที่เคยปฏิบัติมาในอดีต

ด้วยมูลค่าการซื้อขายในตลาดเกิดใหม่ที่เริ่มแพงและโอกาสในการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลง นักลงทุนบางส่วนจึงเริ่มแสวงหาโอกาสลงทุนใหม่ๆที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งการลงทุนในตลาดชายขอบ (Frontier Market) ที่เคยถูกมองว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมากในอดีตก็เป็นอีกหนึ่งในทางเลือกใหม่ในการลงทุนของคนกลุ่มนั้น 

ตลาดชายขอบ (Frontier Market) เป็นนิยามที่ถูกใช้สำหรับประเทศที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่และมีตลาดทุนที่ยังด้อยการพัฒนา (ตลาดทุนที่มีขนาดเล็กและสภาพคล่องต่ำ) แต่มีสถานภาพเศรษฐกิจและการเมืองที่ดีกว่า “ประเทศรัฐล้มละลาย (Failed states)[1]” ประเทศตลาดชายขอบ (Frontier Market) ประกอบด้วย 26 ประเทศ ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณทวีปเอเซีย, เอเซียตะวันออก, ยุโรปตะวันออก, แอฟริกา และ ละตินอเมริกา ตัวอย่างประเทศที่บรรดานักลงทุนจัดอยู่ในประเทศตลาดชายขอบ (Frontier Market) เช่น พม่า, ลาว, เวียดนาม, มองโกเลีย, คาซัคสถาน, ไนจีเรีย เป็นต้น

ตลาดชายขอบ (Frontier Market) อยู่ในช่วงต้นของการพัฒนาจึงมีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง เนื่องด้วยบางประเทศสงครามการเมืองเพิ่งสงบลง ประชาชนเริ่มเบื่อหน่ายกับความผันผวนทางการเมืองจึงพร้อมเปิดรับการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกประเทศเพื่อให้คุณภาพชีวิตของตนเองดีขึ้น หรือบางประเทศในกลุ่มนี้ก็มีโครงสร้างประชากรวัยหนุ่มสาวที่อยู่ในกำลังแรงงาน (Labour Force) ค่อนข้างมากจึงเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กอปรกับขนาดตลาดทุนที่ค่อนข้างเล็กหรือยังด้อยระดับการพัฒนา มีแหล่งกู้เงินค่อนข้างน้อย ประเทศเหล่านี้จึงมีอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อรายได้ประชาชาติ (Debt to GDP) ค่อนข้างต่ำ ยิ่งไปกว่านั้นตลาดชายขอบ (Frontier Market) มักมี correlation ต่ำ กับประเทศตลาดพัฒนาแล้ว (Developed Market) และประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)  จึงให้ประโยชน์ด้านกระจายความเสี่ยงแก่พอร์ตลงทุนภายใต้ความผันผวนในตลาดทุนโลกที่มีค่อนข้างสูงในปัจจุบัน

โดยสรุป การลงทุนในตลาดชายขอบ (Frontier Market) แม้จะให้อัตราผลตอบแทนที่สูงจนน่าเย้ายวน แต่นักลงทุนต้องเผชิญความเสี่ยงหลากหลายประการอาทิเช่น การขาดความโปร่งใส, ข้อจำกัดของสภาพคล่อง, ความผันผวนทางสังคมและการเมือง ตลอดจนความไร้เสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน นักลงทุนจึงต้องลงทุนในตลาดนี้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะตลาดชายขอบ (Frontier Market) มีขนาดค่อนข้างเล็ก มีสภาพคล่องต่ำกว่าตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) และอาจมีความเสี่ยงสูญในการสูญเสียเงินต้นได้


[1]ประเทศรัฐล้มละลาย (Failed states) ” คือ รัฐที่ไม่สามารถบริหารการปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถดำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยภายใน มีความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมอย่างรุนแรง มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย รัฐบาลและกลไกรัฐขาดความมั่นคงและประสิทธิภาพ จนไม่สามารถบริหารประเทศและแก้ปัญหาต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จได้