Wednesday, March 17, 2010

การดำเนินนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติ (Normalization)

ในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2010 ที่ผ่านมา หากใครได้ติดตามข่าวสารเศรษฐกิจบ่อยๆคงจะได้ยินคำว่า “Normalization” จากบรรดาธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกมากขึ้น รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็หยิบยกคำนี้มาพูดกันบ่อยขึ้น เห็นได้จากผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน วันที่ 10 มีนาคม 2553 มีใจความตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “คณะกรรมการฯ เห็นว่า ความเสี่ยงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลง ทำให้ความจำเป็น ที่ต้องมีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษเช่นในปัจจุบันได้ลดน้อยลงไปมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ ที่อาจจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี ก่อนที่จะพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ภาวะปกติต่อไป” ซึ่งคำว่า “ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ภาวะปกติต่อไป” นั่นก็คือการทำ Normalization นั่นเอง โดยการทำ Normalization นั้นจะแตกต่างกับการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด (Tightening Monetary Policy) คือการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดมุ่งเน้นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอความร้อนแรงของระบบเศรษฐกิจ แต่การ Normalization นั้นมุ่งเน้นเพียงแต่รักษาสภาพเศรษฐกิจให้มีระดับที่สมดุลมากขึ้นเพราะอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยไม่ได้มุ่งหวังว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้นจะชะลอความร้อนแรงของระบบเศรษฐกิจ

ในที่นี้ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า แล้วเหตุใดบรรดาธนาคารกลางต้องปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติด้วย คำตอบก็คือนโยบายการเงินในปัจจุบันส่วนใหญ่หลายประเทศอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายเกินกว่าปกติซึ่งจะเห็นได้จากดอกเบี้ยนโยบายต่ำเป็นประวัติการณ์ในนานาประเทศ เนื่องด้วยตั้งแต่กลางปี 2008 ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกล้วนเผชิญผลกระทบจากปัญหาที่เกิดกับภาคการเงินของสหรัฐฯ ทำให้แนวทางการจัดการนโยบายการเงินต้องดำเนินไปในทางที่ผ่อนคลายมากที่สุดเท่าที่จะเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ

อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไประบบเศรษฐกิจสามารถทำงานได้ตามปกติอีกครั้ง ฉะนั้นความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายมากปกติก็เริ่มลดความสำคัญลง และการเลือกดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจประเทศนั้นได้

แต่การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะตัดสินใจใช้กระบวนการ Normalization นั้น จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะหากการผู้ดำเนินนโยบายรีบร้อนดำเนินการ Normalization เร็วเกินไปภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจยังไม่แข็งแรงเพียงพอ อาจจะเป็นการสร้างความเปราะบางให้กับเศรษฐกิจประเทศนั้นๆในภายหลังได้ หรือ การดำเนินการ Normalization เร็วและแรงจนเกินไปภายใต้สภาพตลาดการเงินที่เอื้อต่อการทำ Carry-Trade นั้น แทนที่จะลดโอกาสการเกิดปัญหาฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ แต่กลับจะเป็นการเพิ่มปัญหาดังกล่าวจากการที่มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิมามากกว่าเม็ดเงินที่ถูกดูดออกไปจากระบบ ขณะเดียวกันหากผู้ดำเนินนโยบายตัดสินใจไม่ดำเนินการ Normalization เลยนั้นก็มีโอกาสสร้างผลเสียต่อเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน กล่าวคือการดำเนินดอกเบี้ยต่ำผิดปกติเป็นเวลานานในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวก็อาจเป็นการสร้างปัญหาฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ (Asset Price Inflation) ให้เกิดในอนาคตได้

โดยสรุปการดำเนินการ Normalization นโยบายการเงินนั้นเป็นสิ่งที่สมควรกระทำ แต่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง โดยต้องประเมินทั้งขนาดและช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะดำเนินการดังกล่าว